ติดตามอีเว้นท์ใหม่ๆได้ทาง Facebook

เลนส์เสริม ICL แก้ปัญหาสายตาสั้น เอียง และสายตายาวแต่กำเนิด เพิ่มความคมชัดทุกมุมมอง

เลนส์เสริม ICL แก้ปัญหาสายตาสั้น เอียง และสายตายาวแต่กำเนิด เพิ่มความคมชัดทุกมุมมอง

  8 ธ.ค. 2563



ปัญหาสายตาสั้น เอียง และสายตายาวแต่กำเนิด (Hyperopia) ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสายตาที่ทำให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบันการแก้ปัญหาสายตามีหลายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการใส่แว่น ใส่คอนแท็กเลนส์ การทำเลสิก และการใส่เลนส์เสริม ICL (Implantable Collamer Lens) ซึ่งเป็นการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อกระจกตา ไม่ทำให้ตาแห้งหรือเกิดการอักเสบ ทั้งยังทำงานร่วมกับเลนส์ตาธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

พญ.ฐิดานันท์ รัตนธรรม จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ICL หรือ Implantable Collamer Lens คือ การใส่เลนส์เสริมเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น เอียง โดยใช้วัสดุ Collamer ที่อ่อนโยนต่อดวงตา โดยเลนส์เสริมนี้สามารถพับได้ให้มีขนาดเล็ก ยืดหยุ่น นุ่มชุ่มชื้น และสั่งตัดพิเศษจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ตามค่าสายตาและปัญหาของแต่ละบุคคล (tailor-made) โดยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญจะใส่เลนส์เสริมบริเวณช่องระหว่างม่านตาและเลนส์ตาธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่แก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ โดยเลนส์เสริมจะทำหน้าที่เหมือนคอนแทคเลนส์ ต่างกันเพียงเลนส์เสริมจะใส่อยู่ในดวงตา โดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของกระจกตา ไม่ก่อให้เกิดภาวะตาแห้ง ไม่ทำให้กระจกตาบางลง และสามารถถอดออกได้ (removable) เพื่อรองรับเทคโนโลยีเลนส์เสริมสายตายาวตามอายุหรือค่าสายตาเปลี่ยนในอนาคต (ใส่เลนส์เทียมรักษาต้อกระจก)

การแก้ปัญหาทางสายตาโดยการใส่เลนส์เสริม ICL แรกเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี 1993 ที่ประเทศรัสเซีย โดยเลนส์ในระยะแรกจะแก้ปัญหาสายตาสั้นเพียงอย่างเดียว และเลนส์ไม่มีรูระบายน้ำ ต้องทำเลเซอร์อีกครั้งในภายหลังเพื่อเจาะรูระบายน้ำในตาออก กระทั่งปัจจุบันเลนส์เสริม ICL ได้รับการพัฒนาให้สามารถแก้ไขปัญหาค่าสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวแต่กำเนิด (hyperopia) ได้ ส่วนสายตายาวตามอายุเลนส์เสริม ICL อาจช่วยการมองใกล้ได้บางส่วน โดยมีรูเล็กๆ 2 จุดที่เลนส์เพื่อระบายน้ำในตา ช่วยลดผลกระทบไม่ให้เกิดความดันสูงในลูกตา ที่จะเป็นอันตรายต่อดวงตาได้

ผู้ที่เหมาะกับการใส่เลนส์เสริม ICL ได้แก่ 1.มีค่าสายตาสั้น (ระหว่าง 100 – 2,400) หรือสายตาที่เอียง (ระหว่าง 25-600) 2.มีปัญหาตาแห้ง มีกระจกตาที่ค่อนข้างบาง หรือไม่ต้องการทำเลสิก 3.มีอายุ 21 – 45 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่ค่าสายตาค่อนข้างคงที่ 4.มีช่องว่างระหว่างเลนส์กระจกตามากกว่า 4-5 มิลลิเมตร 5.ไม่เป็นต้อกระจก หรือโรคทางตาอื่นๆ

ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการใส่เลนส์เสริม ICL เริ่มจากก่อนเข้ารับการผ่าตัด คนไข้จะได้รับการหยอดยาขยายม่านตาและยาชา จากนั้นจักษุแพทย์จะทำการเปิดช่องขอบด้านข้างของกระจกตาขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร เพื่อทำการใส่เลนส์เสริม ICL ผ่านช่องว่างระหว่างเลนส์ตา ขาของเลนส์เสริมจะถูดจัดให้อยู่ที่บริเวณรอยเว้าภายใต้ม่านตา ใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 30 นาที แผลมีขนาดเล็กประมาณ 3 มิลลิเมตร และสามารถสมานหายได้เองโดยไม่ต้องเย็บแผล เจ็บน้อย คนไข้ไม่ต้องดมยาสลบ โดยเลนส์เสริมที่นำมาใส่ให้คนไข้ได้รับการวัดและสั่งตัดเพื่อแก้ไขปัญหาตามค่าสายตาของคนไข้แต่ละราย เพื่อให้สามารถใส่เลนส์ได้พอดีเหมาะกับดวงตาแต่ละข้าง ดังนั้น การวัดและการสั่งตัดเลนส์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ภายหลังการใส่เลนส์คนไข้จะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรักษา สามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกันโดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ และเลนส์สามารถถอดออกได้ ไม่ว่าจะเพราะการเปลี่ยนเลนส์ ค่าสายตาเปลี่ยนในอนาคต หรือเกิดภาวะต้อกระจกเมื่อสูงวัยขึ้น

คุณสมบัติที่ดีของเลนส์เสริม ICL คือ ผลิตจากวัสดุที่เรียกว่า คอลลาเมอร์ (Collamer) มีส่วนประกอบของคอลลาเจน (Collagen) ผสมกับโคพอลิเมอร์ (Copolymer) ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเลนส์แก้วตาธรรมชาติของมนุษย์ ลักษณะบางใส มีความยืดหยุ่นเข้ากับเลนส์ตาธรรมชาติได้ดี เนื่องจากการมองเห็นในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป ค่าสายตาระดับ 20/20 จะเป็นค่าสายตาของคนที่มีสายตาปกติ ซึ่งในคนที่มีสายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวแต่กำเนิด การใส่เลนส์เสริม ICL จะช่วยแก้ไขสายตาให้อยู่ในระดับ 20/20 ช่วยให้คุณภาพการมองเห็นที่คมชัด (High definition vision) ไม่ก่อให้เกิดอาการตาแห้งหรือกระจกตาอักเสบ ช่วยลดภาวะแสงกระจายในเวลากลางคืน พร้อมช่วยป้องกันรังสี UV ชะลอการเกิดต้อกระจก ป้องกันอันตรายต่อจอประสาทตา รวมถึงช่วยรักษาสายตาสำหรับคนที่มีข้อจำกัดหากต้องรักษาในรูปแบบอื่น

ทั้งนี้ การใส่เลนส์เสริม ICL นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาภาวะสายตาสั้น เอียง และสายตายาวแต่กำเนิด โดยไม่ทำให้กระจกตาบางลง รวมถึงสามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาให้เหมาะสม สิ่งสำคัญคือควรเข้ารับการรักษากับจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการแก้ไขค่าสายตาผิดปกติด้วยการใส่เลนส์เสริม รวมถึงความพร้อมของอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการรักษาเป็นสำคัญ


โรงพยาบาลกรุงเทพ



ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจได้ทาง Facebook


แสดงความคิดเห็น / ประชาสัมพันธ์

   แนะนำให้อ่าน